พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2521
บัญญัติไว้ควบคุมการทำงานของคนต่างด้าวที่ขออนุญาตทำงานในประเทศไทยและสงวนอาชีพบางอย่างไว้สำหรับคนไทย
โดยคนต่างด้าวที่จะขออนุญาตทำงานได้มี 3 ประเภท คือ
- คนต่างด้าวที่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร หรือได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว แต่ไม่ใช่
นักท่องเที่ยว หรือผู้เดินทางผ่าน
- คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในราชอาณาจักร ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน
หรือตามกฎหมายอื่น
- คนต่างด้าวที่ถูกเนรเทศ ซึ่งได้รับการผ่อนผันให้ไปประกอบอาชีพ ณ ที่แห่งใดแทนการเนรเทศ หรืออยู่ใน
ระหว่างรอการเนรเทศ คนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรืออยู่ในระหว่างรอการส่งกลับออกนอก
ราชอาณาจักร คนต่างด้าวที่เกิดในราชอาณาจักรแต่ไม่ได้รับสัญชาติไทยหรือถูกถอนสัญชาติ ซึ่งสามารถทำงานได้
27 อาชีพตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
ดูรายละเอียดที่นี่ English
|
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528
เดิมมี พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2511 บังคับใช้ จนกระทั่ได้มีการประกอบธุรกิจในการจัด ส่งคนหางานไปทำงานในต่างประเทศจำนวนมากขึ้น และมีการหลอกลวงคนหางาน จึงได้มีการปรับปรุงแก้ไข พระราชบัญญัติจัดหางานฯ พ.ศ.2511 มาเป็น พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 (พระราชบัญญัติ ดังกล่าวมีการแก้ไขเพิ่มเติมในปี 2537 และปี 2538) โดยมีสาระสำคัญ คือ
1.) ให้มีสำนักงานจัดหางานของรัฐที่จะให้บริการจัดหางานแก่ประชาชนโดยไม่คิดมูลค่า
2.) ขยายรูปแบบการคุ้มครองคนหางานให้ได้รับความเป็นธรรม และได้รับการช่วยเหลือเมื่อประสบความเดือดร้อน
3.) ควบคุมและดูแลการประกอบธุรกิจจัดหางานของเอกชนอย่างจริงจัง ทั้งนี้
- ผู้ขออนุญาตจัดหางานในประเทศ จะต้องมีสัญชาติไทย และมีหลักประกัน เป็นจำนวนเงินหนึ่งแสนบาทวาง
ไว้กับนายทะเบียน เพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตจัดหางาน
ดังกล่าวเป็นนิติบุคคล นิติบุคคลนั้นต้องมีสัญชาติไทยและมีผู้จัดการซึ่งเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะ
ต้องห้าม
- ผู้ขออนุญาตจัดหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ จะต้องเป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด มีทุน
จดทะเบียนและชำระแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท มีผู้จัดการซึ่งเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม
และมีหลักประกันเป็นจำนวนเงินห้าล้านบาทวางไว้ กับนายทะเบียนจัดหางานกลาง เพื่อเป็นหลักประกัน
การปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้
4.) กำหนดให้ผู้รับอนุญาตจัดหางานเพื่อไปทำงานต่างประเทศ ส่งคนหางานเข้ารับการทดสอบฝีมือ
5.) กำหนดมาตรการในการควบคุมการดำเนินการทดสอบฝีมือ โดยให้อยู่ในความรับผิดชอบของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ทั้งนี้การดำเนินการทดสอบฝีมืออาจจะดำเนินการโดยสถานทดสอบฝีมือของรัฐ หรือดำเนิน การโดยสถานทดสอบฝีมือของเอกชน
ดูรายละเอียดที่นี่
|
พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545
ได้ปรับปรุงพระราชบัญญัติส่งเสริมการฝึกอาชีพ พ.ศ. 2537 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการฝึกอาชีพ แก่บุคคลซึ่งอยู่ในวัยทำงานให้มีฝีมือสอดคล้องกับความต้องการของธุรกิจอุตสาหกรรมและเพื่อให้บุคคลซึ่งทำงานอยู่แล้ว ได้รับการฝึกเพื่อยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานและการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน รวมทั้งเพื่อให้มีการร่วมมือระหว่าง สถานประกอบการและสถานศึกษาในการรับนักเรียน นิสิต นักศึกษาเข้ารับการฝึกในสถานประกอบการ และการส่งผู้รับ การฝึกหรือผู้ซึ่งสถานประกอบการจะรับเข้าทำงานไปรับการฝึกอาชีพในสถานศึกษาหรือสถานฝึกอาชีพของทางราชการ ทั้งนี้ผู้ที่ที่ได้มีการฝึกอบรมฝีมือแรงงานตามหลักสูตรและรายละเอียดเกี่ยวกับการฝึกอบรมฝีมือแรงงานที่นายทะเบียน ได้พิจารณาให้เห็นชอบจะดำเนินการฝึกอาชีพมีได้รับสิทธิและประโยชน์ตามพระราชบัญญัตินี้เพื่อให้นายจ้างและสถาน ประกอบกิจการมีส่วนร่วมในการพัฒนาฝีมือแรงงานรวมทั้งให้มีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อเป็นทุนหมุนเวียน สำหรับใช้จ่ายเกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน
ดูรายละเอียดที่นี่
|
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
กฎหมายแรงงานสัมพันธ์เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับกระบวนการเสริมสร้างระบบแรงงานสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง โดย กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการยื่นข้อเรียกร้องเพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง การระงับข้อพิพาทแรงงาน สิทธิของนายจ้างลูกจ้างในการจัดตั้งสมาคม และสหภาพแรงงาน เพื่อแสวงหาและคุ้มครองประโยชน์เกี่ยวกับการจ้าง การจัดสวัสดิการและส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง การจัดตั้งคณะกรรมการลูกจ้าง เพื่อหารือ กิจการต่างๆ กับนายจ้างเป็นการสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันและหาทางปรองดอง ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง เพื่อให้เกิดความสงบสุขในอุตสาหกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ
ดูรายละเอียดที่นี่ English
|
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
กฎหมายคุ้มครองแรงงาน เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง เป็นกฎหมายที่กำหนด มาตรฐานขั้นต่ำในการใช้แรงงานทั่วไป การใช้แรงงานหญิง การใช้แรงงานเด็ก ค่าตอบแทนการทำงาน สวัสดิการ ความปลอดภัยในการทำงาน ค่าชดเชยการเลิกจ้าง และกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง รวมทั้งการดำเนินการของพนักงาน เจ้าหน้าที่ในการให้ความคุ้มครองลูกจ้างทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและให้ลูกจ้างมีสุขอนามัย ที่ดี อันจะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่นายจ้าง ลูกจ้าง และการพัฒนาประเทศ
ดูสรุปสาระสำคัญเพิ่มเติม ดูรายละเอียดที่นี่ English |
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
กฎหมายแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับมาตรฐานสิทธิประโยชน์และความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหาร และลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจ เป็นกฎหมายที่กำหนดสิทธิในการร่วมเจรจาต่อรองตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการยื่นข้อเรียกร้อง เพื่อการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง การระงับ ข้อพิพาทแรงงาน การจัด ตั้งสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ เพื่อแสวงหา และคุ้มครองประโยชน์เกี่ยวกับการจ้างให้รัฐวิสาหกิจ การกำหนดให้มีคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ซึ่งเป็นคณะกรรมการไตรภาคีที่จะกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ การกำหนดให้มีคณะกรรมการ กิจการสัมพันธ์ในรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง ซึ่งเป็นคณะกรรมการทวิภาคีเพื่อการปรึกษาหารือให้เกิดความเข้าใจซึ่งกัน และกันและหาทางปรองดองให้การทำงานของฝ่ายบริหารและลูกจ้างรัฐวิสาหกิจเกิดสันติสุข
ดูสรุปสาระสำคัญเพิ่มเติม ดูรายละเอียดที่นี่ English
|
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
กำหนดให้มีการจัดเก็บเงินสมทบจากนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล เพื่อให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้างที่ประสบอันตราย เจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรือตายที่มิใช่เป็นผลสืบเนื่องจากการทำงาน รวมทั้งกรณีคลอดบุตร กรณีสงเคราะห์บุตร กรณีชราภาพ และกรณีว่างงาน โดยอัตราเงินสมทบกรณีประสบอันตราย เจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย และคลอดบุตร ให้จัดเก็บในอัตรารวม 3 ฝ่ายไม่เกินร้อยละ 4.5 ของค่าจ้าง สำหรับกรณีสงเคราะห์บุตรและกรณีชราภาพ ให้จัดเก็บในอัตรารวม 3 ฝ่ายไม่เกินร้อยละ 9 ของค่าจ้าง และกรณีว่างงาน ให้จัดเก็บในอัตรารวม 3 ฝ่ายไม่เกินร้อยละ 15 ของค่าจ้างทั้งนี้ลูกจ้างที่เข้าข่ายจะได้รับบริการทางการแพทย์และเงินทดแทนการขาดรายได้ รวมถึงค่าคลอดบุตร ค่าทำศพ เงินสงเคราะห์ทายาทในกรณีตาย ค่าสงเคราะห์บุตร และเงินบำเหน็จบำนาญ กรณีชราภาพ สำหรับกรณีว่างงาน จะดำเนินการเมื่อใดให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาขึ้นใช้บังคับ
ดูรายละเอียดที่นี่
|
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
กำหนดให้มีการจัดเก็บเงินสมทบจากนายจ้างปีละหนึ่งครั้ง ในอัตราร้อยละ 0.2-1.0 ของค่าจ้าง ตามลักษณะความ เสี่ยงภัย ของประเภทกิจการนั้นๆเงินสมทบที่จัดเก็บได้นี้ให้นำไปจ่ายเป็นเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างที่ประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย สูญเสียอวัยวะ สูญเสียสมรรถภาพของร่างกายตายหรือสูญหายอันเนื่องมาจากการทำงานให้กับนายจ้าง โดยลูกจ้างจะได้รับเงินทดแทนเป็นค่ารักษาพยาบาล ค่าทดแทนการขาดรายได้ ค่าทำศพ หรือค่าฟื้นฟูสมรรถภาพ ในการทำงาน ซึ่งขึ้นอยู่กับระดับของการประสบอันตรายนั้นๆ
ดูสรุปสาระสำคัญเพิ่มเติม ดูรายละเอียดที่นี่ |